สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
514 ถนนหลวง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร 10100
โทร.02 -622-5047 โทรสาร.02-221-6029
เรื่อง ขอประชาสัมพันธ์ข่าว

ป้องกันไว้ก่อน...ไม่เกร็งไม่กระตุก

ภายหลังน้ำลด...ชาวบ้านต่างก็เริ่มเข้ากระชับพื้นที่ของตนเอง เพื่อทำความสะอาดบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมขังมาเป็นเวลานาน  
นายสราวุฒิ สนธิแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า “สิ่งที่น่าเป็นกังวลในช่วงหลังน้ำลด คือ การถูกของมีคม เช่น เศษไม้ เศษแก้ว โลหะ ตะปู ฯลฯ ที่พัดพามากับน้ำ ทิ่มตำในระหว่างเก็บกวาดและทำความสะอาดบ้านเรือน…”

ใช่แล้วค่ะ ท่านหมายถึง “โรคบาดทะยัก” ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อที่ชื่อว่า clostridium tetani โดยเชื้อนี้จะมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เช่น ในดิน พื้นหญ้า เศษไม้ เศษแก้ว เศษโลหะ ฯลฯ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย สารพิษ (toxin) ที่เรียกว่า tetanospasmin จะจับกับเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อมีการหดเกร็งตลอดเวลา เชื้อฯ มีระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการประมาณ 5 - 14 วัน บางรายอาจนานถึง 1 เดือนหรือนานกว่านั้น โดยอาการที่ว่า ได้แก่ อาการเกร็งของกล้ามเนื้อลายและเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบบาดแผล จากนั้น 1 - 7 วัน จะเกิดอาการกระตุกและเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย มีการเกร็งของกล้ามเนื้อกรามทำให้อ้าปากไม่ได้ กลืนน้ำลายลำบาก คอและหลังเกร็งทำให้นอนแอ่นหลัง มีอาการปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย กล้ามเนื้อช่วยหายใจไม่ทำงานเกิดภาวะหายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตจากภาวะหายใจวายได้

สำนักการแพทย์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพอนามัยประชาชนกรุงเทพมหานคร จึงดำเนินการจัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ฟรี ให้แก่ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัครที่ปฏิบัติภารกิจในสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ควรได้รับวัคซีนบาดทะยัก 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ฉีดห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มที่ 3 ฉีดห่างจากเข็มแรก 6 เดือน หากคุณเคยได้รับวัคซีนมาครบแล้ว 3 เข็ม แต่นานกว่า 10 ปี ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนบาดทะยักที่พบบ่อย คือ อาจมีไข้ได้ มีบวมแดงที่บริเวณที่ฉีด แต่อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปภายใน 1 สัปดาห์

ไม่จำเป็นต้องรอให้มีบาดแผล คุณสามารถป้องกันได้ก่อน โดยขอรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักได้ ณ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2554 เป็นต้นไป

คอและหลังเกร็งทำให้นอนแอ่นหลัง

อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย

ด้วยความปรารถนาดีจากกองวิชาการ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
โทร 0-2220-7563 หรือ
www.msdbangkok.go.th

 

ส่งข่าวโดย นายพิเชษฐ์ อินทรบุญ
กองวิชาการ สำนักการแพทย์
086-519-9447